วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รู้ทัน ไข้เลือดออก โรคเก่า...เล่าใหม่

มารู้จักที่มาและวิธีปกป้องลูกน้อยพ้นภัยไข้เลือดออก 

         ก่อนอื่นมารู้จักกับที่มาของโรคไข้เลือดออกกันก่อนค่ะ โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสไข้เลือดออกที่ชื่อว่า เดงกี (Dengue) ซึ่งเชื้อไวรัสนี้ทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือ เดงกี 1, 2, 3 และ 4 โดยมีพาหะนำโรคคือเจ้ายุงลาย พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปีแต่พบมากในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงเอื้อต่อการขยายพันธุ์ของยุงลาย


วัยใส...วัยแพ้ภัยเจ้ายุงลาย
 
         จากข้อมูลสถิติพบว่าช่วงวัยของผู้ป่วยที่แพ้ภัยเจ้ายุงลายนี้ อยู่ในช่วงอายุ 5-14 ปีค่ะ โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 5-9 ปี ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะพบในกลุ่มอายุที่มากขึ้น แต่ถึงแม้ว่าร่างกายจะได้รับเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเข้าไปแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการถึงร้อยละ 85-90 อย่างไรก็ดี การป้องกันไว้ย่อมดีกว่าค่ะ เพราะถ้าหากว่า ภูมิต้านทานของเจ้าหนู เกิดตกเป็นรองเจ้าเชื้อไวรัสไข้เลือดออกขึ้นมา ลูกน้อยก็จะเกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้ ดังนั้นเรามารู้ทันอาการของโรคนี้กันดีกว่า 

จะรู้ได้ยังไง...ว่าลูกเป็นไข้ (เลือดออก) หรือเปล่า 
 
ในกลุ่มที่มีอาการสามารถจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 

          1. อาการที่เหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่ว ๆ ไป ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก อาจมีอาการไข้อย่างเดียว หรืออาจมีผื่นร่วมด้วย 

          2. ไข้แดงกี มักพบในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ จะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ และปวดกระดูก โดยทั่วไปอาการมักไม่รุนแรง 

          3. ไข้เลือดออก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด กรณีที่มีการรั่วมาก อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะช็อกได้ 

 เรามีวิธีสังเกตสัญญาณการรุกรานของไข้เลือดออกมาฝากค่ะ 
 
การดำเนินโรคของไข้เลือดออกแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 
 
          ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง จะมีอาการไข้สูงประมาณ 2-7 วัน สามารถสังเกตได้คือแม้จะกินยาลดไข้ยังไง ไข้ก็ไม่ยอมลด เนื้อตัวและใบหน้าจะแดงกว่าปกติ บางคนอาจมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ หรือมีผื่นขึ้น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาจพบว่ามีจุดเลือดออกตามตัว 

          ระยะที่ 2 ระยะวิกฤต คือหลังจากที่มีไข้สูงระยะหนึ่งแล้ว ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว และจะมีการรั่วของพลาสมา หรือน้ำเหลืองออกนอกเส้นเลือด ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงค่ะ ขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย ในกรณีที่รุนแรง ผู้ป่วยจะมีการรั่วของพลาสมาเป็นจำนวนมาก และถ้าให้สารน้ำโดยการกินหรือน้ำเกลือทางเส้นเลือดทดแทนไม่ทัน ผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะความดันโลหิตต่ำหรือที่เรียกว่าช็อกได้ 
 
          ระยะที่ 3 ระยะพักฟื้น เป็นระยะที่มีการดูดกลับของพลาสมาเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการโดยทั่วไปดีขึ้น โดยสังเกตได้ดังนี้

         คนไข้เจริญอาหารมากขึ้น  

         ชีพจรเต้นช้าลง 

         ในผู้ป่วยบางราย จะพบมีผื่นขึ้นตามร่างกาย เรียกว่าผื่นในระยะพักฟื้น 

         ปัสสาวะออกมากขึ้น เมื่อเทียบกับระยะวิกฤต 

         หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการข้างต้น ก็ถือว่า กำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วล่ะค่ะ ตามปกติในช่วงระยะพักฟื้น คุณหมอจะหยุดการให้สารน้ำหรือน้ำเกลือทางเส้นเลือด มิฉะนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะน้ำเกินได้ 

แล้วจะให้การวินิจฉัยได้อย่างไร?

         เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ การเฝ้าติดตามสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอาการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด จะได้พาบุตรหลานของท่านไปพบแพทย์ได้ทันเวลา และได้รับการดูแลที่เหมาะสมต่อไป 
 
         การวินิจฉัยโดยใช้อาการทางคลินิกร่วมกับการตรวจนับเม็ดเลือด โดยดูการเปลี่ยนแปลงของความเข้มข้นเลือด จำนวนเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด จะช่วยในการวินิจฉัยผู้ป่วยได้ถึงร้อยละ 95 และมักจะชัดเจนขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีไข้มาแล้วโดยเฉลี่ยประมาณ 3-8 วัน  

         การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสเดงกี ในปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาลโฆษณา และสามารถให้บริการการตรวจประเภทนี้ได้ ซึ่งเป็นการตรวจที่มีราคาแพง จะได้ผลดี ถ้าตรวจในระยะที่ผู้ป่วยยังมีไข้ หรือในช่วงแรกของการเจ็บป่วยนั่นเอง 
 
         อีกประเภทหนึ่งคือ การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่เป็นการตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัย บางวิธีต้องเจาะเลือดตรวจ 2 ครั้ง ห่างกัน 1-2 สัปดาห์ จึงไม่ได้ช่วยในการรักษาของคุณหมอเท่าใดนัก เพราะคนไข้หายป่วยกลับบ้านไปแล้วผลการตรวจจึงจะกลับมา แต่เป็นการตรวจที่ราคาไม่แพง 
 
         เมื่อทราบดังนี้แล้ว ควรพิจารณาว่าการตรวจเหล่านี้ มีความจำเป็นต่อลูกน้อยที่ป่วยเป็นไข้มากน้อยเพียงใด ควรสอบถามข้อมูลจากคุณหมอให้เข้าใจ เพื่อประกอบการตัดสินใจค่ะ 

รู้ทัน...รักษาได้  

         การรักษายังคงเป็นเพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น แต่การรักษาที่ดีที่สุด ขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ และเฝ้าระวังติดตามอาการของโรคตามที่คุณหมอแนะนำค่ะ 

ระยะไข้สูงลอย 

         เป็นระยะสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าสังเกตอาการ การเปลี่ยนแปลง รวมทั้งให้การดูแลสุขภาพของเจ้าตัวเล็กอย่างใกล้ชิดค่ะ 

         เมื่อพบว่าลูกเป็นไข้สูงลอย ให้กินยาพาราเซตามอลและเช็ดตัวให้บ่อย ๆ เพื่อลดไข้ แต่มีข้อห้ามที่สำคัญคือ ห้ามกินยาแอสไพรินหรือยาในกลุ่มลดไข้สูง เนื่องจากมีผลทำให้เลือดออกง่ายขึ้น 

         รับประทานอาหารตามปกติ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ พยายามให้เจ้าหนูรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดูดซึมง่าย 

ระยะวิกฤต 

         ในช่วงท้ายของระยะไข้สูงลอยประมาณ วันที่ 3-5 หลังจากเริ่มมีไข้ ขอให้คุณพ่อคุณแม่คอยสังเกตอาการให้ดี ถ้าเจ้าหนูมีอาการผิดปกติ ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วค่ะ คุณหมอจะทำการประเมินอย่างละเอียด และจะให้สารน้ำทางเส้นเลือดเพื่อทดแทนพลาสมาที่สูญเสียไป ป้องกันไม่ให้เข้าสู่ภาวะความดันโลหิตต่ำหรือช็อกค่ะ ใช่ว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกทุกรายนั้นจะมีอาการรุนแรงเช่นนี้เสมอไป เนื่องจากผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงพบได้เป็นส่วนน้อย แต่ก็ไม่ควรประมาทนะคะ 

รู้ทัน...ป้องกันได้  

         กำจัดลูกน้ำยุงลาย บอกเจ้าหนูว่ายุงลายชอบวางไข่ในน้ำนิ่ง ชวนให้เขาช่วยเปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ อ่างเลี้ยงปลา ปิดฝาภาชนะใส่น้ำต่าง ๆ ให้มิดชิด 
 
         สำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวหนู เช่น ห้องนอน ควรมีมุ้งลวดกันเจ้ายุงมาเกาะแกะ 
 
         ดูแลตัวเองและคนที่หนูรัก ตัวหนูก็ต้องคอยดูแลสุขภาพตัวเองนะคะ ต้องหม่ำอาหารที่มีประโยชน์ และนอนลับพักผ่อนให้เพียงพอ 

         หวังว่าคงคลายกังวลถึงภัยร้ายของเจ้ายุงลาย และเตรียมตัวตั้งรับกับไข้เลือดออกได้อย่าง "รู้ทัน" แล้วนะคะ

ลดเอว ลดสะโพก ลดต้นขา

การที่จะมีสุขภาพดี ก็ต้องดูแลรูปร่างให้ดีด้วย สาวๆมาดูท่า ลดเอว ลดสะโพก ลดต้นขา แบบง่ายๆ ทำได้ทุกวัน ใช้เวลาไม่นาน รับรองว่าสุขภาพดี หุ่่นเป๊ะแน่ๆๆ สวย เพรียวพร้อมกันถ้วนหน้าแน่นอน

เรามาเริ่มกัน แบบ step by step กันเลย
ท่่าคลาน กางเข่าออกพอประมาณ
จากนั้นยกตัวขึ้นค้างไว้ 3 นาี่ทีแล้วกลับสู่ท่าเดิม

นั่งพับเพียบแขนตั้งตึง ตามรูป
ยกตัวขึ้นค้างไว้ 3 นาที แล้วกลับสู่ท่าเดิม
นอนหงาย ตั้งเข่าขึ้น พร้อมยกศีรษะขึ้นเกร็งหน้าท้อง
    
     ยืดขาออกเตะสลับขึ้นลง ประมาณ 30 ครั้ง กลับสู่ท่าเดิม



ทำแบบนี้ทุกๆวันเป็นประจำ ตื่นนอน และก่อนเข้านอน นะจ๊ะสาวน้อยทั้งหลาย รับรองว่าหุ่นเป๊ะกระชับสวยได้รูปแน่นอน








วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

10 การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเป็นโรค

อย่างนิ่งนอนใจเชียวค่ะ หากจู่ๆ เกิดความเปลี่ยนแปลงในร่างกาย แม้จะเพียงเล็กน้อย อาทิ ผื่นขึ้น ผมร่วง หรือแม้กระทั่งริ้วรอยเหี่ยวย่น ที่ใครต่อใครก็คิดว่าเป็นเรื่องแสนธรรมดา ทว่าแท้จริงแล้วอาการเหล่านั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า โรคร้าย กำลังมาเยือน !

“ร่างกายจะแสดงอาการทีละน้อย เหมือนเป็นการกระซิบบอกคุณว่าเกิดความผิดปกติขึ้น ซึ่งหากคุณไม่ใส่ใจอาการก็จะหนักขึ้น กระทั่งคุณเจ็บป่วย” Molly M. Roberts ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพและการบำบัดแห่งเมือง San Francisco และประธานสมาคมศูนย์การแพทย์แบบองค์รวมแห่งสหรัฐอเมริการะบุ
     
       
ว่าแล้วก็อธิบายสัญญาณ 10 ประการมาให้คุณๆ ได้ทราบ และหมั่นสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงในร่างกาย ที่คล้ายจะเป็นเรื่องแสนธรรมดา ทว่าสามารถไขรหัสความลับของโรคร้ายได้นั้นคืออะไรบ้าง



      1. ริ้วรอยร่องลึกบนใบหน้า
       

       แม้ว่าริ้วรอยแห่งวัย จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเกิดขึ้นตามวัยก็ตามที แต่บางครั้งริ้วรอยก็บ่งบอกถึงสัญญาณของโรคกระดูกพรุนได้
     
       
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา บ่งชี้ว่า ริ้วรอยบนใบหน้าของคุณสาวๆ อาจบอกได้ว่า เธอมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้เนื่องจากระดับโปรตีนในผิวหนังมีความเชื่อมโยงกับกระดูก ซึ่งการศึกษาพบว่า ริ้วรอยลึกและรอยหยาบกร้านบนผิวหนังสัมพันธ์กับความหนาแน่นของกระดูกที่ลดลง
     
       
ดังนั้นยิ่งใบหน้าและลำคอมีริ้วรอยมากเท่าไหร่ สาวนางนั้นก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้แม้ไม่รู้แน่ชัดถึงสาเหตุของความเกี่ยวโยงดังกล่าว แต่นักวิจัยชี้ว่า ผิวและกระดูกมีส่วนประกอบหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือ คอลลาเจน(Collagen) ดังนั้นคุณภาพของกระดูก จึงสะท้อนออกมาได้ทางผิวหนัง
     
       
2. เล็บขาว-เล็บบุ๋ม
       

       หากคุณหลีกเลี่ยงการทาสีเล็บมานาน รักษาสุขภาพเล็บอย่างดีเยี่ยมแล้ว ก็ยังไม่วายเกิดปัญหาเล็บเหลืองเล็บบุ๋ม ล่ะก็ คุณอาจต้องไปพบแพทย์แล้วหล่ะ
     
       
เพราะเล็บสามารถบ่งบอกถึงความผิดปกในร่างกายได้มากมาย การเปลี่ยนแปลงของเล็บ (เช่น เปลี่ยนสี เกิดรอยบุ๋ม หรือบิดเบี้ยวผิดรูปไป) เป็นเรื่องปกติของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน หรือผู้ที่ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง รวมถึงหากจู่ๆ เล็บของคุณเปลี่ยนแปลงไป แถมยังมีอาการผมร่วงเป็นหย่อมๆ ร่วมด้วยก็เป็นสัญญาณว่า คุณอาจกำลังเป็นโรคที่เกี่ยวกับไขข้อค่ะ
     
       
นอกจากนี้เล็บยังบอกถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอื่นๆ อีกเช่น เล็บเป็นร่อง บอกให้ทราบถึงความผิดปกติของของไต, เล็บเป็นลอน (ตามขวาง) บ่งบอกว่าฮอร์โมน (Hormone) ในร่างกายผิดปกติ ซึ่งอาจเพราะคุณกำลังมีโรคร้ายแรงจึงทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง, เล็บสีเขียวคล้ำ นั่นคือคุณอาจกำลังป่วยด้วยโรคหืดอย่างรุนแรง, โรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคหลอดลมอักเสบ, เล็บขาว บอกถึงความผิดปกติของตับ ไต อาจมีภาวะโลหิตจาง หรือตับอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
     
       
เมื่อทราบว่าเล็บบอกโรคได้มากมายขนาดนี้ หมั่นสังเกตเล็บสักนิดนะคะ หากพบว่าผิดปกติก็อย่ารอช้า รีบตรวจหาสาเหตุ เพื่อจะได้ดูแลรักษาอย่างทันท่วงที
       
       3. เท้าบวม
       

       อาการเท้าบวม อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งอุบัติเหตุทำให้เคล็ดขัดยอกจนบวม, กรรมพันธุ์, ระหว่างตั้งครรภ์, ความอ้วน หรือการใช้ยาบางชนิดที่ทำให้มีการกักเก็บน้ำไว้ในขามากเกินไป
     
       
แม้อาการเท้าบวมจะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่หากเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นก็ไม่ควรวางใจ เพราะอาการเท้าบวมขาบวมนั้น ถือเป็นอาการสุดคลาสสิค อาการหนึ่งของโรคหัวใจ โดยอาการเท้าบวมในผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดจากการที่หัวใจด้านขวาทำงานลดลง เลือดจากขาไม่สามารถไหลเข้าไปยังหัวใจด้านขวาได้โดยสะดวก จึงทำให้มีเลือดค้างอยู่ที่ขามากขึ้น
      
       
4. ปากเหม็น
      
       
อย่าคิดว่าปากเหม็นเป็นเพียงสัญญาณของโรคเหงือกและฟันเพียงอย่างเดียวนะคะ เพราะการที่คุณมีกลิ่นปาก ทั้งที่พยายามดูและสุขภาพในช่องปากเป็นอย่างดีแล้ว อาจเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากความผิดปกติของหัวใจและกระดูกของคุณ
     
       
ในปี 2010 นักวิจัยชาวสก็อตแลนด์ เผยแพร่งานวิจัยในวารสารทางการแพทย์ของประเทศอังกฤษว่า การแปรงฟันช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้ โดยผู้ที่แปรงฟันอย่างสม่ำเสมอวันละ 2 ครั้ง มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจ น้อยกว่าผู้ที่ไม่ค่อยแปรงฟันมากถึง 70%
       

       นอกจากนี้การที่คุณมีภาวะฟันผุง่าย ยังเป็นการบ่งชี้ได้ถึงสัญญาณของโรคกระดูกพรุน เพราะการที่ฟันผุกร่อนได้ง่ายนั้น หมายถึงความหนาแน่นของกระดูกขากรรไกรที่น้อยลง จึงไม่แปลกเลยที่ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน มักฟันผุได้ง่าย
      
       5. ปื้นสีดำ หลังคอ
       

       หากคุณพบว่าด้านหลังคอของคุณ เป็นรอยดำปื้นๆ ขัดถูอย่างไรก็ไม่ออก อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคเบาหวานได้ เพราะคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา รายงานว่า ผู้ที่มีผื่นผิวหนังเป็นรอย หรือเป็นแถบดำคล้ำแบบนี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ทว่าแม้จะมีความเสี่ยง แต่หากสังเกตเห็นแล้วรีบไปตรวจรักษาแต่เนินๆ การรักษาโรคก็ย่อมจะได้ผลดีกว่า
     
       
“รอยดำคล้ำ มันถือเป็นสิ่งกระตุ้นให้คุณต้องกังวลเป็นสองเท่า และลุกขึ้นมาป้องกัน ดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน” Heather Jones ผู้ช่วยแพทย์แห่งโรงพยาบาล Oregon Health & Science Universityและสมาชิกคณะกรรมการสมาคมแพทย์ผิวหนังระบุ
     
       
6. ผื่นผีเสือ บนใบหน้า
      
       
หากจู่ๆ ใบหน้าคุณมีผื่นขึ้น โดยเป็นผื่นตั้งแต่บริเวณสันจมูก ลากยาวไปที่โหนกแก้มทั้งสองข้างเป็นรูปคล้ายผีเสื้อ ทางการแพทย์เรียกว่า ผื่นผีเสือ (Butterfly Rash) ซึ่งผื่นผีเสื้อนี้มักพบในผู้ป่วยโรค SLE (Systermic Lupus Erythrematosus) ที่คนไทยเรารู้จักกันในนาม “โรคพุ่มพวง” หรือโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง ฉะนั้นหากพบว่ามีผื่นลักษณะดังกล่าวอย่านอนใจ เร่งไปพบแพทย์ด่วนจี๋เลยจ้า
       
       7. ผมร่วง
      
       
แม้ผมร่วงจะมาได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่เกิดในผู้หญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์, ความเครียด, การใช้ยาบางชนิด รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เหล่านี้ล้วนทำให้คุณต้องสูญเสียเส้นผมทั้งนั้น
     
       
แต่หากคุณสาวๆ ผมร่วงมากผิดปกติ จนแทบกลายเป็นสาวผมบางแล้วล่ะก็ นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ต่อมไทรอยด์ของคุณทำงานผิดปกติ ฉะนั้นหากผมร่วงจนบาง โดยไร้สาเหตุ การพบแพทย์เพื่อตรวจเลือด ก็เป็นวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณตรวจพบความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ได้
     
       
8. ริมฝีปากแห้ง
       

       ริมฝีปาก ก็เป็นอีกส่วนที่บ่งบอกถึงสุขภาพของคุณได้ค่ะ หากริมฝีปากคุณแห้งและแตกอย่างรุนแรง อาจเป็นสัญญาณบอกถึงโรคภูมิแพ้ หรือหากบริเวณมุมปากแห้ง ก็เป็นการบ่งบอกว่าคุณอาจเป็น โรคโจเกรน (Sjogren’s syndrome) หรือที่คนไทยเรียกว่า “โรคปากแห้ง ตาแห้ง” ซึ่งโรคโจเกรนนี้ ถือเป็นหนึ่งในโรคแพ้ภูมิตัวเอง ที่ผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ คล้ายกับโรคพุ่มพวง
     
       แต่ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติในผู้ป่วยโรคโจเกรน มักจะไปทำให้เกิดการอักเสบที่ต่อมน้ำลาย และต่อมน้ำตา ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการตาแห้ง และปากแห้ง รวมถึงอาจมีอาการผิวแห้ง ปวดข้อ และอ่อนเพลียร่วมด้วย
       
        9. ตาเหลือง
      
       
ดวงตา นอกจากจะเป็นหน้าต่างของดวงใจแล้ว ยังเป็นหน้าต่างให้คุณได้มองเห็นโรคร้ายที่แฝงอยู่ในกายด้วย
     
       
ในภาวะปกติ ตาขาวควรจะสดใสสุขภาพดี ทว่าหากจู่ๆ ตาขาวเกิดเปลี่ยนเป็นสีเหลือง อาจเป็นสัญญาณของโรคตับ เช่น ตับแข็งหรือตับอักเสบ นอกจากนี้ยังสามารถบอกถึงอาการผิดปกติของถุงน้ำดีอีกด้วย ฉะนั้น “ตาเหลือง” คือ สัญญาณที่ไม่ปกติเอาเสียเลย หากส่องมองกระจกแล้วพบว่า ดวงตาขาวเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้วล่ะก็ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติโดยด่วยนะจ๊ะ
     
       
10. ไฝเปลี่ยนสี มีขนาดใหญ่ขึ้น
      
       
หลายคนมีไฝติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งนั่นก็มิใช่ความผิดปกติอันใด ทว่าหากจู่ๆ ไฝของคุณเกิดเปลี่ยนแปลง จากไฝเม็ดเล็กจิ๋ว ก็ใหญ่ขึ้นๆ หรือจากสีจางก็กลายเป็นเม็ดไฝสีที่เข้มขึ้นแล้วล่ะก็ เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งผิวหนัง ที่บ่งบอกออกมาให้คุณได้ทราบ ดังนั้นไฝที่อยู่ติดกายมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ก็ต้องหมั่นสังเกตหน่อย หากมีการเปลี่ยนแปลง หรือผิดปกติ ก็ควรไปพบแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ อย่างไรเสีย กันไว้ก็ดีกว่าแก้...จริงมั้ยคะ?




อาหารกับคนท้องในช่วงอาการท้องเดือนแรก-เดือนสุดท้าย

อาหารกับคนท้องระหว่าง 1 – 9 เดือน

สำหรับคุณแม่อาการท้องเดือนแรกไปถึงเดือน 9 กว่าจะคลอดเจ้าตัวเล็กออกมาดูโลกได้ ยอดคุณแม่คงต้องผ่านช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงมากๆ ตลอด 9 เดือนนี้กันบ้างนะคะ มาดูกันสิว่า อาการที่จะเกิดขึ้นในแต่ละเดือนจะมีผลกับการทาน และไม่อยากทานอาหารอย่างไรกันบ้างค่ะ  

อาการท้องเดือนแรก

ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก (เดือนที่ 1-3)
อาการของคุณแม่ :
 ช่วงอาการท้องเดือนแรกนี้รูปร่างก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก น้ำหนักตัวก็ยังไม่ค่อยเพิ่มขึ้น นอกจากว่าถ้ามีอาการแพ้ท้องก็อาจทำให้น้ำหนักตัวลดลงไปบ้างนะคะ เพราะพอเราแพ้ท้อง ก็จะทานอาหารได้น้อยลง แถมยังรู้สึกเหนื่อยง่าย จู่ๆก็อ่อนเพลียไม่มีแรงซะอย่างนั้น ช่วงนี้จะทานอะไรไม่ค่อยอร่อย เชื่อไหมคะว่าขนาดดื่มแค่น้ำเปล่ายังรู้สึกขมๆ ได้เลย แล้วส่วนใหญ่ก็จะนอนเก่งขึ้น รู้สึกขี้เกียจไปหมด ตอนเย็นๆ บางวันอาจรู้สึกเหมือนเป็นไข้รุมๆ บ้าง และอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ แปรปรวนง่าย เครียดง่าย
คุณแม่ที่กำลังตั้งท้องบางคนในช่วงอาการท้องเดือนแรกๆ นี้อาจเอาแต่ใจตัวเองผิดปกติ หงุดหงิด ขี้รำคาญ หรือบางคนถึงกับขาดความมั่นใจ มีอาการซึมเศร้า จู่ๆ ก็ร้องไห้ได้เลยนะคะ ทำให้คนรอบข้างถึงกับแปลกใจว่าทำไมจู่ๆ คุณแม่อย่างเราถึงเป็นแบบนั้นได้ แม้แต่ตัวเราเองยังรู้สึกเลยค่ะ แต่ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะระดับฮอร์โมนในร่างกายที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ไม่ต้องเป็นห่วงไปนะคะเพราะใช้เวลาสักพักก็จะปรับตัวเข้าที่เข้าทางขึ้น จะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นด้วยค่ะ แล้วพอเข้าช่วงปลายๆ เดือนที่ 3 อาจต้องขยายไซส์เสื้อผ้าเล็กน้อย เพราะคุณแม่อย่างเราจะเริ่มมีพุงน้อยๆ พอให้รู้สึก อวบๆ ขึ้นบ้างแล้วค่ะ
แนะนำ : ช่วงที่มีอาการท้องเดือนแรกๆ นี้คุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องเดือนแรกถึงเดือนสาม อาจจะรู้สึกไม่ค่อยอยากทานอาหารอะไรมากนัก ทั้งที่เป็นช่วงที่ต้องทานอาหารที่มีประโยชน์ให้มากเข้าไว้ เพื่อช่วยกันสร้างพัฒนาการของเจ้าตัวเล็ก เพราะฉะนั้นอยากให้ลองฝืนใจกันหน่อย คิดไว้เสมอว่า “ทานเพื่อลูก ทานเพื่อลูก สู้ๆ” แล้วก็ควรทานแต่ผัก ผลไม้สดๆ และเน้นอาหารที่มีโปรตีนให้มากขึ้น เพราะอยู่ในช่วงที่เจ้าตัวเล็กกำลังสร้างอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่ายกายตั้งแต่หัวจรดเท้าแล้วค่ะ ถ้าให้ดีคุณแม่อย่างเราก็ควรเลี่ยงอาหารหรืออยู่ห่างจากสารพิษที่อันตราย อย่างแอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาบางชนิดไว้บ้าง เพราะอาจทำให้เจ้าตัวเล็กของเราถึงกับพิการได้ค่ะ และถ้าคุณแม่ที่ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ก็ต้องระวังให้มาก เพราะเป็นช่วงที่แท้งได้ง่ายที่สุดด้วย คุณแม่ควรดูแลตัวเองเป็นพิเศษสุดๆ กันหน่อยนะคะ 

อาการท้องช่วงท้าย

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 (เดือนที่ 4-6)
อาการของคุณแม่ : 
ช่วงที่มีอาการท้องเดือนหลังๆ มาแล้ว คุณแม่ที่แพ้ท้องช่วยเดือนสี่ไปถึงเดือนหก อย่างเราจะเริ่มรู้สึกว่าร่างกายเปลี่ยนแปลงมากขึ้นแล้วค่ะ ทั้งน้ำหนักตัวหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น รวมทั้งเต้านมที่โตและรู้สึกเจ็บขึ้นโดยไม่มีสาเหตุนะคะ แล้วก็จะเริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย เหงื่อออกง่ายกว่าเดิม และคุณแม่บางคนอาจมีอาการปวดหลัง เพราะน้ำหนักของท้องที่เพิ่มขึ้นบ้างแล้ว แต่รับรองว่าถ้าผ่านช่วงเวลาที่แพ้ท้องมาได้ คุณแม่อย่างเราจะค่อยๆ ปรับตัวได้มากขึ้น และจะเริ่มรู้สึกผูกพันกับลูกเป็นพิเศษ เริ่มรู้สึกแล้วว่าเขากระดุกกระดิกแล้วนะ เรียกว่าช่วงนี้คนเป็นแม่จะรู้สึกมีความสุขมากขึ้นค่ะ และอารมณ์ก็ไม่แกว่ง เหมือนช่วงเดือนแรกๆ ที่ตั้งครรภ์ด้วย
 
ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 (เดือนที่ 7-9)
อาการคุณแม่ : ยิ่งใกล้คลอดรูปร่างของเราก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นจนชักเริ่มรู้สึกอุ้ยอ้ายไปหมด แล้วก็จะรู้สึกเหนื่อยง่าย ยิ่งช่วงใกล้คลอดเท่าไหร่ก็ยิ่งรู้สึกอึดอัดกว่าเดิมด้วยค่ะ ท้องจะตึงแน่น เจ็บหัวหน่าว ปวดถ่วงแถวเชิงกราน ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะน้ำหนักของมดลูกเริ่มไปกดทับมดลูกแล้วค่ะ และช่วงใกล้ๆ คลอดก็อาจบวมที่ข้อเท้าและนิ้วมือด้วย
แนะนำ : เพราะมดลูกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทำให้ไปกดทับพื้นที่ส่วนต่างๆ ของร่างกายมากขึ้น อย่างปอดและกระเพาะอาหารของเราก็จะเล็กลง บางคนอาจรู้สึกหายใจถี่ขึ้น เหมือนหายใจสั้นๆ ไม่ค่อยเต็มปอดเท่าไหร่ รู้สึกแสบร้อนในอกเพราะมดลูกไปเบียดกระเพาะอาหาร ทำให้น้ำย่อยล้นขึ้นไปที่หลอดอาหารได้ง่ายกว่าเดิม ช่วงนี้อยากให้คุณแม่อย่างเราๆ นอนหนุนหมอนให้สูงหน่อยนะคะ แล้วก็ทานนมอุ่นๆ ก่อนนอนบ้าง จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ค่ะ

4 อาหารที่สำคัญต่อสุขภาพคนท้องเดือนตั้งแต่ 7-9 เดือน

  1. คุณแม่อาการท้องช่วงนี้ อาหารสำหรับคนท้องคือ ดื่มนมที่มีดีเอชเอ โคลีน และสารอาหารอื่นๆ ที่จำเป็น อย่างน้อยวันละ 2 แก้ว จะได้ช่วยเติมสาร อาหารให้เพียงพอต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมองของเจ้าตัวเล็กด้วยค่ะ
  2. ดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ก่อนจะดีกว่าค่ะถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้งดชา กาแฟ และน้ำอดลมด้วยก็ยิ่งดีนะคะ
  3. ช่วงนี้คุณแม่อย่างเราควรงดอาหารที่ไม่มีประโยชน์สำหรับคนท้องอย่าง ขนมหวานแสนโปรดอาหารทอดๆ ชุ่มน้ำมัน ผลไม้กระป๋อง หรือแม้แต่อาหารสำเร็จรูปต่างๆ ลูกชิ้น ไส้กรอกหรืออาหารที่ใส่สารกันบูด สารฟอกขาวต่างๆ
  4. เลือกทานแต่อาหารที่ปรุงสุกใหม่เท่านั้น

วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปัสสาวะอย่างไรให้ถูกวิธี (ผู้หญิง)

หลายคนอาจจะสงสัยว่าการขับถ่ายปัสสาวะทำไมถึงต้องมาเรียนรู้เพราะว่าทุกคนก็ขับถ่ายมาตั้งแต่เกิด จริงๆ แล้วปัสสาวะสามารถแสดงถึงความผิดปกติของร่างกายที่สำคัญ ดังนั้นในวันนี้เรามาเรียนรู้การขับถ่ายปัสสาวะอย่างถูกวิธีกันเถอะ



    1. อย่ากลั้นปัสสาวะโดยเด็ดขาด เมื่อรู้สึกปวดต้องไปปัสสาวะทันที

    2. เวลาปัสสาวะไม่ควรรีบร้อนเบ่งมาก เพราะอาจทำให้หูรูดชำรุดได้

    3. ควรถ่ายปัสสาวะให้หมดหรือให้เหลือน้อยที่สุดคือ
เมื่อรู้สึกถ่ายหมดแล้วให้เบ่งต่ออีกนิดหน่อย ปัสสาวะที่เหลือจะไหลออกมา

    4. ไม่ควรบังคับให้ตนเองถ่ายปัสสาวะบ่อย เพราะจะติดเป็นนิสัยหรือจะรู้สึกว่าปวดปัสสาวะตลอดเวลา ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือประมาณ 2-4 ชั่วโมงควรถ่ายปัสสาวะหนึ่งครั้ง

    5. ให้สังเกตการถ่ายปัสสาวะและน้ำปัสสาวะของตนเองทุกครั้ง เช่น ต้องเบ่งมากผิดปกติหรือไม่ น้ำปัสสาวะพุ่งดีหรือไม่ น้ำปัสสาวะมีสีเช่นไร เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นอาการผิดปกติที่สามารถบ่งบอกความผิดปกติของร่างกายได้

    6. หลังปัสสาวะควรใช้กระดาษชำระซับอวัยวะเพศให้แห้งทุกครั้ง หรืออาจจะล้างทำความสะอาดได้ แต่อย่าให้เปียกชื้น เพราะอาจเกิดเชื้อราได้
    7. ถ้าปัสสาวะไม่ออก ต้องไปพบแพทย์ อย่าซื้อยารับประทานเพราะจะเกิดอันตรายได้

    8. การบริหารอุ้งเชิงกรานโดยการขมิบ (ฝ่ายหญิงขมิบช่องคลอด ฝ่ายชายขมิบทวารหนัก) วันละ 100 ครั้ง จะช่วยป้องกันอาการปัสสาวะเล็ด

    9. ควรดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ 10 แก้ว หรือหนึ่งลิตร จะช่วยให้น้ำปัสสาวะใส มีจำนวนพอดีและป้องกันภาวะปัสสาวะอักเสบ

    10. ก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงควรถ่ายปัสสาวะทิ้งจะช่วยป้องกันการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

    11. น้ำปัสสาวะจะต้องเป็นน้ำเท่านั้น ไม่ควรมีสิ่งอื่นเจือปน เช่น มูก หนอง น้ำเหลือง หรือเลือดถ้ามีถือว่าผิดปกติต้องไปพบแพทย์ทันที

    12. การขับถ่ายปัสสาวะ ต้องไม่มีอาการเจ็บปวด ถ้าปัสสาวะแสบขัดลำบากต้องไปพบแพทย์ทันที

    13. เราทุกคนควรต้องปัสสาวะอย่างน้อยวันละ 4-6 ครั้ง ถ้าไม่ปัสสาวะใน 1 วัน ถือว่าตกอยู่ในภาวะอันตราย ต้องไปพบแพทย์โดยด่วน



        ลองพิจารณาดูว่าตนเองมีพฤติกรรมการขับถ่ายปัสสาวะเช่นไร และปรับให้เหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดีของเราค่ะ



ผู้ติดตาม